วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

<  <  กฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัว > >


                1. หญิงชายจะทำการหมั้นกันได้เมื่อมีอายครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นจะต้องมีความรับผิดชดใช้ค่าทดแทนกัน
                2. ผู้เยาว์เมื่อมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ จะทำการสมรสกันได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
                3. บุคคลจะทำการสมรสกันได้นั้น ต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือไม่เป็นญาติที่สืบสายโลหิตต่อกัน
                4. บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะ เลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ บุตรมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา
                5. บุคคลที่รับบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
                6. บุตรนอกกฎหมายของชายจะมีโอกาสเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ด้วยการจดทะเบียนรับรองบุตร
                7. ทายาทแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม ถ้าไม่มีผู้ใดเป็นทายาทรับมรดกของผู้ตาย มรดกนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

                ขณะนี้นักเรียนเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว ในแต่ละครอบครัวก็มีสมาชิก ซึ่งอยู่สถานภาพต่างกัน ได้แก่ สามี ภรรยา บิดา มารด บุตร สมาชิกทุกคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกต้องตามกฎหมาย นักเรียนเป็นบุตรของบิดามารดาก็ต้องรู้สิทธิหน้าที่ของตนในฐานะของบุตร บิดามารดาก็ต้องรู้สิทธิหน้าที่ของตน ต่อไปในอนาคต
                นักเรียนก็จะต้องมีโอกาสที่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัว มีโอกาสที่จะทำการสมรสและเริ่มต้นครอบครัวใหม่ของตนเอง ฉะนั้นจึงควรได้ศึกษากฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัว เพื่อเป็นประโยชน์กับตนเองและอาจสามารถแนะนำสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
                ก่อนที่ชายหญิงจะมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัว ก็อาจจะเริ่มต้นการผูกพันกันด้วยการหมั้นแล้วจึงทำการสมรส หรือบางคู่อาจจะทำการสมรสกันเลยโดยไม่ต้องหมั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ตามกฎหมาย นักเรียนกำลังอยู่ในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้ ก็ควรจะได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างพอสมควร เมื่อชายหญิงสมรสกันแล้ว และมีบุตรเกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องรู้สิทธิหน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร และบุตรก็ควรรู้สิทธิหน้าที่ของตนต่อบิดามารดา บางคนไม่มีบิดามารดาแต่มีผู้ปกครอง บางคนมีความจำเป็นจะต้องเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรับบุตรบุญธรรม บางคนอาจจะมีบุตรโดยที่ยังไม่ถึงวัยอันควรจะแก้ปัญหาได้อย่างไร และเมื่อตายไปแล้วมรดกจะตกเป็นของใครเหล่านี้เป็นต้น

1. การหมั้น
               
การหมั้น หมายถึง การที่ชายหญิงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกัน เมื่อเกิดการหมั้นขึ้นแล้ว ถ้าฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาคือไม่ยอมทำการสมรส อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะฟ้องศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสไม่ได้

                1.1 เงื่อนไขของการหมั้น
                        1) อายุของคู่หมั่น เกณฑ์ของการหมั้น คือชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ เหตุที่กฎหมายกำหนดอายุของชายและหญิงจะที่เป็นคู่หมั้น เพราะการหมั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของชายและหญิง เมื่อจะทำสัญญาหมั้นกัน จึงควรให้ชายหญิงที่จะเป็นคู่หมั้นอยู่ในวัยที่จะเรียนรู้เรื่องการหมั้นได้ตามสมควร กฎหมายถือว่าชายหญิงมีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ไม่อยู่ในวัยที่จะรู้เรื่องการหมั้น การสมรส จึงทำการหมั้นไม่ได้ แม้บิดามารดาหรือผู้ปกครองจะให้ความยินยอมก็ตาม
                        2) ผู้เยาว์จะทำการหมั้นกันได้ต้องได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลต่อไปนี้
                                - บิดามารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา ตัวอย่างเช่น หยาดรุ้งผู้เยาว์อายุ 17 ปี  มีความประสงค์จะหมั้นกับเลิศชายอายุ 21 ปี หยาดรุ้งมีบิดามารดาที่มีชีวิต หยาดรุ้งจะต้องได้รับการยินยอมจากบิดามารดาทั้งสองคน มิใช่ได้รับความยินยอมจากบิดาเพียงคนเดียว หรือได้รับความยินยอมจากมารดาเพียงคนเดียว แต่ถ้าเลิศชายซึ่งเป็นฝ่ายชายมีอายุเพียง 18 ปี ซึ่งยังถือว่าเป็นผู้เยาว์ ถึงแม้จะเป็นฝ่ายชายก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาทั้งสองคนเช่นกัน
                                - บิดาหรือมารดา ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ซึ่งผู้เยาว์ไม่อาจของความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
                   *** กรณีตัวอย่าง แววดาผู้เยาว์อายุ 17 ปี มีความประสงค์จะหมั้นกับเกริกไกร ซึ่งมีอายุ 25 ปี แววดาผู้เยาว์มีมารดาที่มีชีวิตอยู่แต่บิดาถึงแก่กรรมไปนานแล้ว แววดาจะต้องได้รับความยินยอมจากมารดา หรือถ้าแววดามีแต่บิดาเพราะมารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว แววดาก็ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดาแต่เพียงผู้เดียว
                            - ผู้รับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
                            - ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3หรือมี แต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
                   *** กรณีตัวอย่าง วริศราผู้เยาว์อายุ 17 ปีบริบูรณ์ มีความประสงค์จะหมั้นกับเจษฎาอายุ 20 ปี วริศราไม่บิดามารดาแต่มีผู้ปกครองคืนนายโอภาส วริศราจะต้องได้รับความยินยอมจากนายโอภาจึงจะทำการหมั้นได้ หรือถ้าวริศราผู้เยาว์มีบิดาเพียงคนเดียว แต่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองโดยศาล เธออยู่ในความปกครองของนายโอภาสก็จะต้องได้รับความยินยอมจากนายโอภาสแต่เพียงผู้เดียว  บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วมีอำนาจทำการหมั้นได้โดยตามลำพังตนเอง ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือรับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง เฉพาะแต่ผู้เยาว์เท่านั้นที่จะต้องได้รับความยินยอม การให้ความยินยอมในการหมั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบพิธีไว้ ฉะนั้นบิดามารดา หรือรับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองจึงอาจให้ความยินยอม  โดยวิธีหนึ่งวิธีใด คือด้วยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษรก็ได้
                1.2 ของหมั้นและสินสอดของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและเป็นประกันว่าจะทำการสมรสกับหญิง การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงสินสอด คือ ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรส  โดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
                  *** กรณีตัวอย่าง นายฟ้าได้หมั้นกับนางสาวเหลือง โดยนายฟ้ามอบแหวนเพชรราคา 50,000 บาทแก่นางสาวเหลืองเป็นของหมั้น แหวนหมั้นจะตกเป็นของนางสาวเหลืองทันที นายฟ้าได้มอบเงินสดจำนวน 100,000 บาทให้แก่บิดามารดาของนางสาวเหลืองเป็นสินสอด เงินสินสอดจำนวนนี้ยังไม่ได้ตกเป็นสิทธิของบิดามารดาของนางสาวเหลือง จนกว่านางสาวเหลืองจะได้ทำการสมรสกับนายฟ้า แต่ถ้านางสาวเหลืองไปยุ่งเกี่ยวฉันชู้สาวกับชายอื่น ทำให้นายฟ้าไม่อาจสมรสกับนางสาวเหลืองได้ นายฟ้าสามารถเรียกสินสอดคืนได้
                1.3 ผลของการหมั้น  เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ยหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
              ***  กรณีตัวอย่าง นายหมึกหมั้นกับนางสาวปลา กำหนดในสมรสเรียบร้อยแล้ว นางสาวปลาได้จัดซื้อเครื่องเรือน ที่นอน หมอน มุ้ง เพื่อเตรียมการสมรสคิดเป็นเงิน 10,000 บาท แต่นายหมึกผิดสัญญาไม่ยอมสมรสกับนางสาวปลา ดังนั้นนางสาวปลามีสิทธิเรียกค่าทดแทนที่ได้จ่ายไปเนื่องในการเตรียมการสมรสได้ แต่จะฟ้องเพื่อให้ศาลบังคับนายหมึกให้ทำการสมรสกับนางสาวปลาไม่ได้
              ***  กรณีตัวอย่าง นายน้ำเงินได้หมั้นกับนางสาวชมพู นายน้ำเงินได้มอบแหวนเพชร 1 วง ราคา 50,000 บาทและรถยนต์ 1 คน ราคา 500,000 บาท ให้แก่นางสาวชมพูเป็นของหมั้น ทั้งกำหนดวันสมรสเรียบร้อยแล้ว นายน้ำเงินได้พิมพ์บัตรเชิญแขกมาในงานสมรสและซื้อเครื่องใช้เพื่อเตรียมการสมรส แต่นางสาวชมพูผิดสัญญาไม่ยอมสมรสกับนายน้ำเงิน ดังนั้นนางสาวชมพูจะต้องคืนแหวนหมั้นและรถยนต์ให้แก่นายน้ำเงิน และนายน้ำเงินมีสิทธิเรียกค่าทดแทนที่ได้จ่ายไปในการเตรียมการสมรส ถ้าตกลงกันไม่ได้ต้องให้ศาลตัดสิน เรื่องค่าทดแทนนั้นก็ขึ้นอยู่กับศาลจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์
                1.4 การเลิกสัญญาหมั้น    การเลิกสัญญาหมั้นด้วยความยินยอมทั้งสองฝ่าย ย่อมทำได้โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือมีพยานลงลายมือชื่อ เมื่อเลิกสัญญากันแล้วก็กลับคืนสู่ฐานะเดิม ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้น และถ้ามีสินสอดก็ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชายด้วยการเลิกสัญญาหมั้นด้วยเหตุที่คู่หมั้นตาย คู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกเอาค่าทดแทนกันไม่ได้    สำหรับของหมั้นหรือสินสอดนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย ฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย
              ***  กรณีตัวอย่าง ยุทธนากับทิพย์รักใคร่ชอบพอกัน ยุทธนาได้นำแหวนเพชร 1 วงหมั้นทิพย์ และทิพย์ก็รับหมั้นด้วยความเต็มใจ ถือว่าทั้งสองมีสัญญาหมั้นกันแล้ว ต่อมาคนทั้งสองมีเรื่องบาดหมางใจกันจึงตกลงเลิกสัญญาหมั้นต่อกัน ดังนั้นทิพย์ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงจะต้องคืนแหวนเพชรซึ่งเป็นของหมั้นให้แก่ยุทธนา
                จากกรณีตัวอย่างข้างต้น ถ้าสมมติว่าทั้งยุทธนาและทิพย์หมั้นกันแล้วและไม่ได้บาดหมางใจกัน ยังเป็นคู่หมั้นที่รักกันเหมือนเดิม แต่ต่อมาทิพย์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทางฝ่ายทิพย์ไม่ต้องคืนแหวนหมั้นให้แก่ยุทธนา หรือถ้ายุทธนาเสียชีวิตทิพย์ก็ไม่ต้องคืนแหวนหมั้น
                ในกรณีที่ยุทธนาเสียชีวิต ทิพย์จะเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายยุทธนาโดยอ้างว่าได้ซื้อเครื่องเรือน เพื่อเตรียมการสมรสเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาทไม่ได้ หรือในทางตรงกันข้าม  ถ้าทิพย์เสียชีวิต ยุทธนาจะเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายทิพย์ย่อมไม่ได้เช่นกัน

2. การสมรส
               
การสมรส หมายถึง การที่ชายและหญิงสมัครใจเข้ามาอยู่กินกันฉันสามีภริยากัน โดยไม่เกี่ยวข้องทางชู้สาวกับบุคคลอื่นใดอีก และถ้าจะให้ถูกต้องตามกฎหมายคู่สมรสจะต้องจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานซึ่งเป็นนายทะเบียน ได้แก่ นายอำเภอ หรือผู้อำนายการเขต

                2.1 หลักเกณฑ์การสมรส การสมรสจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการคือ
                        1) ในการสมรสนั้น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชายและอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหญิง บุคคลเพศเดียวกันจะสมรสกันไม่ได้
                        2) การสมรสจะต้องเป็นการการกระทำโดยสมัครใจของชายและหญิง หากชายหญิงไม่ยินยอมสมรสกัน การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
                        3) การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาจะต้องเป็นระยะเวลาชั่วชีวิต
                        4) การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว คู่สมรสจะสมรสใหม่ไม่ได้ตราบเท่าที่ยังไม่หย่าขาดจากคู่สมรสนั้น
                2.2 เงื่อนไขแห่งการสมรส
                        1) ชายและหญิงจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ มีข้อยกเว้นว่าศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้หากมีเหตุอันสมควร
              ***  กรณีตัวอย่าง โชคอายุ 17 ปีบริบูรณ์ อ้อยอายุ 15 ปีบริบูรณ์ ลักลอบได้เสียกันจนอ้อยเกิดตั้งครรภ์ กรณีนี้อ้อยอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สมรสได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งบุตรที่จะเกิดมา ถือว่าเหตุอันควร แต่ศาลจะอนุญาตหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล
                        2) ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้ เป็นคนไร้ความสามารถก็ดีหรือศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ดี จำทำการสมรสไม่ได้ เพราะคนวิกลจริตเป็นคนที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบในการเป็นคู่ครองของกันและ กัน ไม่สามารถใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของสามีภริยาได้
                    บุคคลวิกลจริต หมายถึง บุคคลผู้มีจิตผิดปกติซึ่งตามที่เข้าใจทั่วๆไปว่าเป็นคนบ้าและหมายความรวมถึงบุคคลที่มีอาการกิริยาผิดปกติเพราะสติวิปลาสคือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึกและขาดความรู้สึกผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวไม่สามารถประกอบอาชีพกิจการงานของตนหรือประกอบกิจการส่วนตัวของตนได้
                        3) ชายหรือหญิงมิได้เป็นญาติที่สืบสายโลหิตต่อกันโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา
                  ***  กรณีตัวอย่าง สิงห์ลักลอบได้เสียกับโฉมงามจนมีบุตรสาวด้วยกันคนหนึ่งชื่อ หวาน สิงห์ไม่ยอมรับว่าหวานเป็นบุตร และเขาได้ไปทำการสมรสกับแต๋ว ต่อมาแต๋วตาย สิงห์จึงเป็นหม้ายและสิงห์ได้มาพบรู้กับหวานและรู้สึกรักใคร่ชอบพอกันฉันชู้สาว แต่ทั้งสิงห์และหวานจะทำการสมรสกันไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นญาติในทางสืบสายโลหิต โดยถือตามหลักความจริงถึงแม้ว่าสิงห์จะไม่ได้ยอมรับว่าหวานเป็นบุตรสาวตามกฎหมายของตนตั้งแต่แรกก็ตาม
                        4) ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายให้ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นบิดามารดาและบุตรต่อกัน การที่จะให้สมรสกันได้ย่อมเป็นการขัดต่อประเพณีและศีลธรรมดันดี
                        5) ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
                        6) ชายหญิงยอมเป็นสามีภริยากัน
                        7) หญิงที่เคยสมรสแล้วแต่สามีตาย หรือหย่าขาดจากสามีเดิมจะสมรสใหม่ได้ ต่อเมื่อเวลาไม่น้อยกว่า 310 วันได้ล่วงพ้นไปก่อน การที่กฎหมายวางข้อขีดขั้นสำหรับหญิงหม้ายดังกล่าวนั้น เนื่องจากจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลำบากเกี่ยวกับเด็กที่เกิดมานั้น เป็นบุตรของสามีเดิมหรือสามีใหม่ มีข้อยกเว้นว่าหญิงคลอดบุตรระหว่างนั้น หรือสมรสกกับคู่สมรสเดิม หรือมีใบรับรองแพทย์รับรองว่าหญิงไม่ได้มีครรภ์ หรือมีคำสั่งศาลให้สมรสได้
                        8) ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดามารด ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองซึ่งมีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการหมั้นของผู้เยาว์
                        9) การสมรสนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนสมรส เมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ชายหญิงย่อมเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ถ้าทำพิธีสมรสกันเฉยๆ แต่ไม่จดทะเบียนสมรสก็ถือว่าไม่เป็นสามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
3. สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร
               
นักเรียนทุกคนย่อมมีบิดามารดาด้วยกันทั้งนั้น จึงควรจะมีความรู้ในสิทธิหน้าที่ของตนอันพึงมีต่อบิดามารดา และสิทธิหน้าที่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตร จะได้รู้ว่าการกระทำใดบ้าง ที่ตนมีสิทธิจะกระทำได้ การกระทำใดบ้างที่เคยปฏิบัติไปแล้วไม่ถูกต้องจะได้ปรับปรุงแก้ไขสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมีดังนี้
                1. บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา จะใช้ชื่อสกุลมารดาได้เมื่อไม่ปรากฏบิดา
                2. บุตรจำต้องเลี้ยงดูบิดามารด บิดามารดาจำต้องอุปการะให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์
                3. บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้
                4. บุตรฟ้องร้องบิดามารดของตนไม่ได้บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน อำนาจปกครอง คือ บรรดาสิทธิทั้งหลาย ซึ่งกฎหมายมอบให้บิดามารดา ในอันที่จะใช้แก่บุตรผู้เยาว์และทรัพย์สินของผู้เยาว์ เพื่อที่จะคุ้มครองอุปการเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุสามารถครองชีพได้ด้วยตนเองบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา อำนาจปกครองจะอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงฝ่ายเดียวในกรณีดังต่อไปนี้
                    1) มารดาหรือบิดาตาย
                    2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
                    3) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
                    4) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
                    5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
                    6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิดังนี้
                            - กำหนดที่อยู่ให้บุตร
                            - ทำโทษบุตรพอสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
                            - ให้บุตรทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
              ***  กรณีตัวอย่าง นางบานชื่นมีอาชีพค้าขายของชำมีบุตรชื่อดอกรัก อายุ 14 ปี มีบุตรสาวชื่อ บานเช้า อายุ 8 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเรียนหนังสือ ในวันเสาร์อาทิตย์ นางบานชื่นให้ดอกรักช่วยขายของหน้าร้านและให้บานเช้าช่วยถูบ้าน แสดงว่านางบานชื่นให้ลูกทำงานตามสมควรแก่ความสามารถเหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่
                            - เรียกบุตรคืนจากผู้อื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
              ***  กรณีตัวอย่าง นางพลอยมีบุตรสาวชื่อแหวน แหวนไปเล่นที่บ้านนายนิลซึ่งบ้านอยู่ใกล้เคียงกัน นายนิลขอให้แหวนช่วยดูแลลูกชายคนเล็กของเขาเพราะคนเลี้ยงลูกของนายนิลไม่อยู่ นายนิลสั่งแหวนว่ายังไม่ให้กลับบ้าน นางพลอยมีสิทธิเรียกแหวนคืนจากนายนิลได้
                            - จัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวัง เช่นวิญญูชนพึงกระทำ
             ***  กรณีตัวอย่าง เด็กหญิงน้ำเงินได้รับทุนการศึกษามาเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท นายเขียวและนางขาวผู้เป็นบิดามารดาจึงนำเงินจำนวนนั้นไปฝ่ายธนาคารไว้เพื่อความปลอดภัย แสดงว่านายเขียวและนางขาวได้จัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวัง
                ในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองโดยศาล ศาลจะจัดตั้งให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้ โดยผู้ปกครองมีสิทธิหน้าที่คล้ายกับผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ปกครอง ได้แก่ บุคคลอื่นนอกจากบิดามารดา ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองผู้เยาว์ ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง
4. การรับบุตรบุญธรรม
               
นักเรียนบางคนอาจจะเป็นบุตรบุญธรรมของบิดามารดาบุญธรรม เนื่องจากเหตุต่างๆ หรือสมาชิกในครอบครัวบางคนไปเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น ดังนั้นจึงควรรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรับบุตรธรรม ดังนี้
                1. บุคคลที่จะรับบุตรบุญธรรมได้จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี ผู้นั้นจะต้องให้ความยินยอมด้วย
                กรณีตัวอย่าง ดวงดาอายุ 32 ปี มีความประสงค์จะรับดวงใจซึ่งมีอายุ 16 ปี เป็นบุตรบุญธรรม อายุของผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมครบตามหลักเกณฑ์เรื่องอายุก็จริง แต่จะต้องได้รับความสมัครใจยินยอมจากดวงใจด้วย
                2. การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดา หรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง  ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าว หรือมีแต่บิดามารดาคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนายินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอม ปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญ สวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดา หรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมได้
                3. ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
                4. บุตรบุญธรรมมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ไม่สูญสิทธิหน้าที่ในครอบครัวที่ให้กำเนิดมา
                5. ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสผู้รับบุตรบุญธรรม
                กรณีตัวอย่าง เด็กชายแดงเป็นบุตรบุญธรรมของนายดำ ต่อมานายดำสมรสกับนางสาวชมพู เด็กชายแดงจะเป็นบุตรบุญธรรมของนางชมพูก็ได้ เพราะถือว่าเป็นคู่สมรสของดำ
                6. การับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย
5. การรับรองบุตร
               
บุตรซึ่งเกิดจากหญิงที่เป็นภริยา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิง แต่เป็นบุตรนอกกฎหมายของชาย กฎหมายเปิดโอกาสให้ชายจดทะเบียนรับรองบุตรได้ ซึ่งทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย และถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันจดทะเบียน ถ้าเป็นกรณีบุตรนอกสมรส แต่ต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็ไม่ต้องจดทะเบียนรับรองบุตรอีก
สรุปสาระสำคัญ
               
1. การหมั้น หมายถึง การที่ชายหญิงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกัน เมื่อเกิดการหมั้นขึ้นแล้ว ถ้าฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา คือ ไม่ยอมทำการสมรส อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะฟ้องศาล เพื่อให้ศาลบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสไม่ได้
                2. ผู้เยาว์จะทำการหมั้น หรือสมรสกันได้เอมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง
                3. การสมรสจะต้องจดทะเบียนสมรสจึงจะถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย
                4. สิทธิและหน้าที่ของบุตร คือ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา จะใช้ชื่อสกุลของมารดาได้  เมื่อไม่ปรากฏบิดา บุตรจำต้องเลี้ยงดูบิดามารดา บุตรฟ้องบิดามารดาของตนไม่ได้
                5. หน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร คือ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ และจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้
                6. บิดามารดามีสิทธิกำหนดที่อยู่ให้บุตร ทำโทษบุตรพอสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน และให้บุตรทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
                7. บุคคลจะรับบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม


2 ความคิดเห็น:

  1. พยามสุดความสามารถ ล่ะ
    ทำแบบมั่วๆ ไม่ได้รู้วิธีทำไรเลย
    *-*

    ตอบลบ
  2. ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว มึนๆๆ - -*

    ตอบลบ